เชียงราย สไมล์ ทัวร์
โดยปกติจะตอบกลับภายในไม่กี่ชั่วโมง
สวัดสดีครับคุณลูกค้า สนใจเดินทางโปรแกรมท่องเที่ยวแบบไหนดีครับ
เริ่มแชท

ตำนานเมือง 5 เชียง

Last updated: 11 มิ.ย. 2566  |  5205 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ตำนานเมือง 5 เชียง

#ตำนานเมือง_5_เชียง
อดีตดินแดนภาคเหนือของประเทศที่ได้ชื่อว่า ล้านนา เคยมีหัวเมืองใหญ่ที่สำคัญในความปกครองที่มีคำขึ้นต้นว่า “เชียง” อยู่ถึง 5 เมือง อันได้แก่เชียงราย เชียงใหม่ เชียงทอง เชียงตุงและเชียงรุ่ง ซึ่งรวมเรียกว่า “เมือง 5 เชียง”


หัวเมืองต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแล้วเคยมีกษัตริย์ปกครองอย่างยิ่งใหญ่ ทว่าภายหลังการเข้ามาของประเทศมหาอำนาจซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้หัวเมืองล้านนาต้องถูกแบ่งแยกในบรรดาเมือง 5 เชียง เมืองเชียงรายถือได้ว่ามีความเก่าแก่ที่สุด


เมื่อเอ่ยถึงประวัติของเชียงราย จะต้องกล่าวถึงประวัติของเมืองเชียงแสนควบคู่กันไป เพราะในยุคที่ไทยกำลังหนีจีนมาตั้งนครหลวงอยู่ที่แคว้นเมาและหนองแสนั้น ถิ่นที่ตั้งของ #จังหวัดเชียงราย เป็นที่อยู่ของชนพื้นเมืองดั่งเดิม พวกหนึ่งที่เรียกว่า “ลัวะ” หรือ “ละวะ” หรือ “ละว้า” และชาวอื่นๆ อยู่ ราวพุทธศตวรรษที่ 11


ขอมมีอำนาจมาถึงอาณาจักรโตรบูร และยกเข้ามาตีแคว้นยวนเชียง ชนชาติไทยจึงมาตั้งอาณาจักรขึ้นที่เชียงแสน เรียกว่า “สุวรรณโคมคำ” ที่ซากเมืองเชียงแสน ใกล้ฝั่งโขงและสร้างเมือง “อุมงคเสลา” ที่ซากเมืองฝาง


ต่อมาประมาณ พ.ศ.1300 ขุนใสฝา โอรสขุมบรม กษัตริย์ไทยครองนครหนองแส ได้สร้างเมืองใหม่ขึ้น บริเวณเมืองสุวรรณโคมคำที่ร้างอยู่ เจ้าสิงหนวัติกุมาร ได้อพยพคนไทยประมาณแสนครัวเรือนออกจากหนองแส (ตาลีฟู) ลงมาสร้างเมืองใหม่ขนานนามว่า “เมืองนาคพันธุ์สิงหนวัตินคร” หรือเมืองเชียงแสน


ปีพ.ศ. 1802 พระเจ้ามังรายขึ้นครองราชสมบัติที่เมืองหิรัญนครเงินยาง ได้ทรงรวบรวมหัวเมืองฝ่ายเหนือและเสด็จตามช้างไปจนถึงดอยจอมทองริมแม่น้ำกกนที เห็นภูมิประเทศเป็นชัยภูมิที่ดี จึงได้สร้างพระนครไว้โดยก่อปราการโอบเอาดอยจอมทองไว้ในท่ามกลางเมือง แล้วขนานนามว่า “เมืองเชียงราย”


เมื่ออาณาจักรล้านนาตกเป็นของพม่าในปี พ.ศ.2101 พม่าได้ให้ขุนนางมอญปกครองเมืองแทน เข้าสู่ยุคสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อาณาจักรล้านนาจึงกลับมาขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา


ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี ได้ขับไล่พม่าออกจากเชียงแสนสำเร็จ
พอถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ได้จัดระเบียบการปกครองใหม่ให้เชียงรายอยู่ในมณฑลพายัพ การปกครองเมืองเชียงรายจึงได้มีการจัดระบบการปกครองแบบการปกครองมณฑลเทศาภิบาล จัดให้มีการบูรณะบ้านเมืองโดยเฉพาะตัวเมืองเชียงราย หมอสอนศาสนาชื่อ นายแพทย์วิลเลี่ยม เจบริดส์ ได้ช่วยในการวางผังเมืองตามทฤษฏีผังเมืองสมัยใหม่


ภายหลังการปกครอง พ.ศ.2475 คณะราษฏร์ได้ยกเลิกระบบเทศาภิบาลให้หัวเมืองลานนาไทยมีฐานะเป็นจังหวัด และต่อมากระทรวงมหาดไทยได้ประกาศยกฐานะ อำเภอพะเยา จังหวัดเชียงรายขึ้นเป็นจังหวัด ปัจจุบันจังหวัดเชียงรายได้แบ่งการปกครองเป็น 18 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.แม่ลาว อ.เวียงชัย อ.เชียงของ อ.เชียงแสน อ.เวียงแก่น อ.เทิง อ.แม่สาย อ.พญาเม็งราย อ.พาน อ.ป่าแดด อ.แม่จัน อ.ขุนตาล อ.แม่ฟ้าหลวง อ.เวียงป่าเป้า อ.แม่สรวย อ.เวียงเชียงรุ้งและ อ.ดอยหลวง


#เชียงใหม่ เป็นเมืองเก่าแก่และมีประวัติการสร้างอันน่าภาคภูมิใจ กษัตริย์ผู้ทรงสร้างนครเชียงใหม่คือ “พญามังรายมหาราช” พระองค์ทรงรวบรวมบ้านเล็กเมืองน้อยบนแผ่นดินล้านนาไทยให้เป็นผืนแผ่นดินเดียวกัน รวมเป็นอาณาจักรล้านนาไทยอันกว้างใหญ่ไพศาล
พญามังรายเป็นราชโอรสของพระเจ้าลาวเม็งผู้สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าลาวจักราช
ซึ่งเป็นผู้สร้างอาณาจักรโยนก ส่วนมารดาของพระองค์คือ พระนางอั่วมิ่งจอมเมือง


ในปี พ.ศ.1802 พญามังรายได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าลาวเม็ง ณ อาณาจักรโยนก ในระยะที่พญามังรายกำลังเรืองอำนาจในอาณาจักรล้านนาไทยนั้น เป็นเวลาเดียวกับที่ “พญาร่วง” (พ่อขุนรามคำแหงมหาราช) กำลังเรืองอำนาจอยู่ในอาณาจักรสุโขทัยและ “พญางำเมือง” (พ่อขุนงำเมือง) กำลังเป็นใหญ่อยู่ที่เมืองพะเยา กษัตริย์ทั้งสามพระองค์นี้เป็นพระสหายสนิทร่วมน้ำสาบานมาด้วยกัน
ดังนั้นเมื่อพญามังรายรวบรวมเมืองต่าง ๆ ในอาณาจักรล้านนาไทยเป็นปึกแผ่นแน่นหนาแล้ว ในปี พ.ศ.1824 พระองค์ยกกองทัพมาตีเมืองหริภุญชัยไว้ในอำนาจ หลังจากได้เมืองหริภุญชัยแล้วทรงโปรดให้อำมาตย์คนสนิทชื่อ “อ้ายฟ้า” ครองเมืองหริภุญชัย
จากนั้นพระองค์ได้เสด็จไปสร้างเมืองใหม่ชื่อ “เวียงกุมกาม” (ปัจจุบันเป็นเมืองร้างอยู่ในเขตอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่)


ปี พ.ศ.1834 ทรงดำริที่จะสร้างเมืองใหม่ขึ้นอีกแห่งหนึ่งเพื่อเป็นศูนย์กลางของล้านนาไทย เมื่อเริ่มสร้างเมืองใหม่นั้น พญามังรายได้ทูลเชิญพญาร่วงแห่งอาณาจักรสุโขทัยและพญางำเมืองแห่งเมืองพะเยาพระสหายร่วมน้ำสาบาน ให้มาช่วยพิจารณาทำเลที่จะสร้างเมืองใหม่ กษัตริย์ทั้งสามพระองค์ทรงเห็นที่ราบอันอุดมสมบูรณ์ริมฝั่งแม่น้ำปิง บริเวณป่าเชิงดอยสุเทพเป็นที่ราบกว้างใหญ่ อยู่ในเทือกเขาสลับซับซ้อนมีแม่น้ำปิงอยู่ทางด้านตะวันออก พื้นที่นั้นกว้างใหญ่อุดมสมบูรณ์เหมาะที่จะสร้างเมืองหลวงขึ้นในบริเวณนั้นเป็นอย่างยิ่ง
พญาร่วงพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงมีพระราชดำรัสว่า “เมืองนี้ข้าศึกจะเบียดเบียนมิได้ คนไหนมีเงินพันมาอยู่จะมีเงินหมื่น ครั้นมีเงินหมื่นมาอยู่จะมีเงินแสน” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสภาพทางยุทธการและเศรษฐกิจของเมืองเชียงใหม่


เมื่อกษัตริย์ทั้งสามพระองค์ทรงปรึกษาหารือกันแล้ว พญามังรายจึงได้ตกลงพระทัยที่สร้างเมืองใหม่ขึ้นมา ณ ที่ราบเชิงดอยสุเทพแห่งนี้ โดยสร้างกำแพงเมืองด้านกว้าง 800 วา ด้านยาว 1,000 วามาบรรจบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ครั้นเมื่อได้เวลาฤกษ์ก็ได้ลงมือขุดคูเวียงและก่อปราการด้านทิศอีสานอันเป็นทิศศรีนครก่อนแล้วอ้อมไปทิศทักษิณไปรอบสี่ด้านพร้อมทั้งตั้งตลาดไปด้วยกันเป็นเวลาสี่เดือนจึงแล้วเสร็จสมบูรณ์ กษัตริย์ทั้งสามพระองค์ทรงขนานนามเมืองนี้ว่า “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่”


ในปี พ.ศ.1839 เมืองเชียงใหม่จึงเป็นศูนย์กลางความเจริญของล้านนาไทย โดยมีกษัตริย์เชื้อสายราชวงศ์มังรายปกครองตลอดมาจนถึง 200 ปีเศษ เชียงใหม่ถูกรุกรานและตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าและกรุงศรีอยุธยาอยู่หลายยุคหลายสมัย จนครั้งสุดท้ายในสมัยกรุงธนบุรี
พระเจ้าตากสินมหาราชทรงตีนครเชียงใหม่คืนจากพม่าได้ในปี พ.ศ.2317 ทรงกวาดล้างอิทธิพลของพม่าออกจากล้านนาไทยได้สำเร็จและทรงแต่งตั้งเจ้าเมืองมาประจำแต่ผู้ครองนครก็ยังมีอยู่ เจ้าผู้ครองนครในล้านนาไทยถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองและเครื่องราชบรรณาการแก่กรุงธนบุรีทุก ๆ ปีในฐานะประเทศราชจนถึงปี พ.ศ.2435 จึงยุติลง


เชียงใหม่เป็นเมืองราชของกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงสมัยของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงสถาปนา “พญากาวิละ” (กาวิละ ณ เชียงใหม่) ขึ้นเป็นพญากาวิละ เป็นต้นตระกูล “ณ เชียงใหม่” ปกครองเมืองเชียงใหม่สืบเนื่องมาจนถึงเจ้าแก้วนวรัฐ องค์ที่ 9 เป็นองค์สุดท้าย


เมื่อคราวจัดแบ่งการปกครองราชอาณาจักรไทยออกเป็นมณฑลในปี พ.ศ.2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยุบเมืองราชเข้ากับอาณาจักรไทยและได้ยกเมืองเชียงใหม่ขึ้นเป็นมณฑลพายัพ มีสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลต่อมาภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 แล้วได้ยุบเลิกมณฑลพายัพเสีย เมืองเชียงใหม่จึงเปลี่ยนมาเป็นจังหวัดจนถึงปัจจุบันนี้ รวมเวลาที่เชียงใหม่เป็นราชธานีของอาณาจักรล้านนาตั้งแต่ปี พ.ศ.1839 จนถึงปีพ.ศ.2339 ได้ 500 ปีและมีอายุตั้งแต่เริ่มสร้างเมืองจนถึงปัจจุบัน 723 ปี ในเดือนเมษายน 2563


#เชียงตุง มีชื่อเรียกอยู่หลายชื่อทั้งเมืองเขิน เมืองขึน เมืองเขมรัฐ มีตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับเมืองนี้เมื่อราว 800 ปีก่อนว่า เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมทั้งใหญ่ขึ้น ณ ริมฝั่งลำน้ำขึน แต่มีพระดาบสรูปหนึ่งนามว่า “ตุงคฤาษี” ได้แสดงอภินิหารให้น้ำไหลออกไปเหลือไว้เพียงแค่หนองน้ำใหญ่กลางใจเมือง ซึ่งกาลต่อมาได้ถูกขนานนามตามชื่อฤาษีรูปนั้นว่า “หนองตุง” และเป็นที่มาของชื่อเมืองที่มีความรุ่งเรืองเฟืองฟูริมหนองน้ำแห่งนี้ว่า “เชียงตุง” หรือ “เขมรัฐตุงคบุรี”


เขมรัฐตุงคบุรี หรือ นครเชียงตุง แว่นแคว้นแห่งนี้มีตำนานการก่อกำเนิดมานานเกือบพันปี เป็นถิ่นที่อยู่ของชนกลุ่มตระกูลไทหรือไตกลุ่มหนึ่ง ที่เรียกตนเองว่า “ไทขึน” หรือ “ไทเขิน” ตามชื่อแม่น้ำขึนที่ไหลหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนชาวเมืองมานานชั่วนาตาปี อีกทั้งใจกลางเมืองยังมีหนองน้ำใหญ่ที่เรียกสืบต่อกันมาว่า “หนองตุง” หรือ “หนองตุ๋ง” ด้วยความที่เมืองเชียงตุงเคยเป็นหัวเมืองเก่าแก่ของอาณาจักรล้านนาและมีประวัติการก่อตั้งเมืองในยุคสมัยใกล้เคียงกัน ทั้งยังมีเจ้าผู้ครองนครปกครองที่มาจากต้นตระกูลเดียวกันคือราชวงศ์มังราย จึงทำให้สองเมืองนี้มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันจนแยกไม่ออก


ยิ่งในระยะหลังราชสำนักเชียงใหม่กับเชียงตุงก็ยิ่งแน่นแฟ้นกันมากขึ้น เมื่อมีราชตระกูลของทั้งสองฝ่ายอภิเษกสมรสกัน เช่น เจ้าอินทนนท์ ราชบุตรของเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้ายสมรสกับเจ้านางสุคันธา ราชธิดาของเจ้าฟ้าเชียงตุง เจ้าทิพวรรณ ธิดาของเจ้าหลวงเมืองลำปาง อภิเษกสมรสกับเจ้าพรหมลือ ราชบุตรแห่งเจ้าก้อนแก้วอินแถลง เจ้าหลวงเมืองเชียงตุงและยังมีเจ้านายของทั้งสองราชตระกูลเกี่ยวดองกันอีกหลายท่าน


ยุคแห่งความรุ่งเรืองของราชสำนักเชียงตุงอยู่ในรัชสมัยของเจ้าก้อนแก้วอินแถลง ซึ่งทรงครองราชสมบัติในช่วงที่มหาอำนาจทางยุโรปกำลังขยายอำนาจในฐานะเจ้าอาณานิคม เมื่อราว 150 ปีก่อน เจ้าฟ้าของชาวไทเขินเชียงตุงพระองค์นี้ ทรงพระปรีชาสามารถและสร้างความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นในปี พ.ศ.2450 หลังจากที่เสด็จกลับจากการประชุมร่วมกับอังกฤษที่ประเทศอินเดียแล้ว พระองค์ยังได้สร้างพระราชวังหลวง หรือ “หอหลวง” ด้วยรูปทรงสถาปัตยกรรมแบบอินเดียประยุกต์ผสมกับศิลปกรรมแบบยุโรปขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับ


ปี 2534 รัฐบาลทหารเผด็จการพม่าภายใต้การนำของนายพลเนวิน ได้ทำการทุบรื้อทำลาย “หอหลวง” สถานที่อันเป็นศูนย์รวมใจของชาวไทขึนแห่งเขมรัฐเชียงตุง เพียงเพราะทหารพม่าต้องการพื้นที่เพื่อใช้สร้างโรงแรมในการโปรโมทการท่องเที่ยวของพม่า Visit Myanmar Year 1996 (พ.ศ.2539) ทว่าสิ่งที่สูญหายไปคืองานสถาปัตยกรรมชิ้นเยี่ยมที่ทรงคุณค่าทั้งทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีและแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญ ซึ่งน่าจะก่อประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจได้ดีกว่าโรงแรมเล็กๆขนาดไม่กี่ห้องพัก ที่วันนี้ดูเงียบเหงาวังเวงปราศจากนักท่องเที่ยวผู้มาเข้าพักเป็นไหน ๆ


กล่าวกันว่าหาก “หอหลวง” ของเมืองเชียงตุงไม่ถูกทุบทิ้ง จะเป็นแหล่งดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเยือนนครรัฐแห่งนี้เป็นจำนวนมากและยังเป็นสถานที่เชิดหน้าชูตาของบรรดารัฐไทในแถบนี้ได้ดีพอ ๆ กับ “พระราชวัง #เชียงทอง” ในเมืองหลวงพระบางเชียงทอง หรือ หลวงพระบาง มีชื่อเดิมว่า “เมืองซัว” อันหมายถึงดินแดนแห่งสรวงสรรค์เป็นที่ประทับของพระอินทร์ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “เชียงดงเชียงทอง” เพราะเป็นดินแดนที่มีทองคำมาก กระทั่งในสมัยพระเจ้าฟ้างุ้มแหล่งหล้าธานี กษัตริย์ลาวองค์ที่ 24 แห่งอาณาจักรล้านช้าง ผู้ทรงสถาปนาพุทธศาสนาให้เป็นศาสนาประจำชาติ ได้ทรงอัญเชิญพระพุทธรูปปางห้ามญาติมาประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองล้านช้าง เรียกว่า พระบาง อันเป็นที่มาของการเรียกเมืองเชียงทองว่า หลวงพระบาง


มรดกล้ำค่าของหลวงพระบางอยู่ที่ความเป็นเมืองแห่งพุทธศาสนา คือมีวัดกระจัดกระจายอยู่ทั่วเมืองไม่ต่ำกว่า 50 วัด สีเหลืองแห่งพุทธศาสนาได้แผ่เข้ามาครอบงำจิตใจของชาวหลวงพระบางมาเป็นเวลาหลายร้อยปี อารยธรรมในดินแดนแห่งนี้จึงมีผลพวงมาจากอิทธิพลของพุทธศาสนา โดยเฉพาะวัดแต่ละวัดนั้นเต็มไปด้วยศิลปวัฒนธรรมอันงดงามของชาวล้านช้างร่มขาว ถ้าเราจะพิสูจน์กันง่ายๆ ว่า พุทธศาสนาคือแก่นประเพณีวิถีชีวิตของชาวหลวงพระบาง หรือไม่ก็ต้องตื่นตอนตีห้าลุกขึ้นมาดูการทำบุญตักบาตรตามริมถนนทุก ๆ เช้าชาวหลวงพระบางเกือบทุกครัวเรือนจะพากันออกมารอใส่บาตรพระสงฆ์ที่เดินเรียงแถวมาตามถนนกว่าร้อยรูป ในยามนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่คนหลวงพระบางเริ่มต้นชีวิตในวันใหม่ด้วยรอยยิ้มแห่งการทำบุญ อิ่มเอิบทั้งจิตใจและใบหน้าแทบไม่น่าเชื่อว่าเมืองเล็ก ๆ ที่มีถนนหลักแค่ 2-3 เส้นทอดผ่านกลางตัวเมือง ทว่ากลับมีวัดจำนวนมากตั้งเรียงรายอยู่ฝั่งถนน หลวงพระบาง


#เชียงรุ้ง สิบสองปันนาตั้งอยู่ทางใต้สุดมณฑลยูนนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ชื่อเต็มว่า เขตปกครองตนเองชนชาติไท (ไทลื้อ) สิบสองปันนา มีความหมายคือ 12 เมือง มีเมืองหลวงอยู่ที่เมืองเชียงรุ่ง ซึ่งในอดีตเป็นเมืองของชาวไทลื้อ มีอาณาเขตติดกับแขวงหลวงน้ำทา แขวงพงสาลี ของประเทศลาวและรัฐฉาน ของประเทศพม่าโดยมีแม่น้ำโขงไหลผ่านตอนกลางเมืองสิบสองปันนา
เมืองสิบสองปันนานั้นได้เป็นราชอาณาจักรหอคำเชียงรุ่ง เมื่อประมาณ 790 ปีก่อน โดยพญาเจืองหรือสมเด็จพระเจ้าหอคำเชียงรุ่งที่1อาณาจักรสิบสองปันนาเริ่มเป็นปึกแผ่นและแผ่ขยายอาณาเขตมากที่สุดในยุคท้าวอินเมือง สามารถขยายอาณาเขตเข้าไปยึดถึงเชียงตุง เมืองแถน (เดียนเบียนฟู) เชียงแสน ล้านช้าง จึงเป็นเหตุให้การอพยพชาวไทลื้อจากเชียงรุ่งและอีกหลายหัวเมืองเข้าไปสู่ดินแดนดังกล่าว เพื่อเข้าไปตั้งชุมชนปกครองหัวเมืองประเทศราช สิบสองปันนาดำรงความมั่นคมเฟื่องฟูอยู่ 100 กว่าปี ก็ถูกรุกรานโดยชาวมองโกลและตกอยู่ในการปกครองของจีนในปี พ.ศ.1833


ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อจากชื่อภาษาไทลื้อมาเป็นภาษาจีนและเจ้าผู้ครองนครชาวไทลื้อถูกเรียกว่าเจ้าแสนหวีฟ้า /หลังจากที่พม่าได้ก่อตั้งอาณาจักรตองอูและขยายอาณาเขตของตนไปทางตะวันออก พม่าได้ยึดเมืองสิบสองปันนา


จากนั้นจึงได้แบ่งเมืองสิบสองปันนาออกเป็น 12 หัวเมือง ได้แก่ เมืองฮาย เมืองม้าง เมืองหุน เมืองแจ้ เมืองฮิง เมืองลวง เมืองอิงู เมืองลา เมืองพง เมืองอู่ เมืองอ่อง และ เมืองเชียงรุ่ง จึงเรียกเมืองเหล่านนี้รวมกันว่า สิบสองปันนา และในช่วงสมัยนี้เป็นช่วงเวลาที่วัฒนธรรมพม่าและพระพุทธศาสนาได้เข้าแผ่ขยายเข้าไปในเขตสิบสองปันนาในสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
หลังจากพระองค์ได้ส่งทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ และ อาณาจักรล้านนา จากพม่าแล้ว ได้โปรดให้พระเจ้ากาวิละเป็นแม่ทัพยกไปตีเมืองเชียงรุ่งและกวาดต้อนพลเมืองชาวไทลื้อในสิบสองปันนา ไทลื้อเมืองพน เมืองหย่วน เมืองล่า ชาวไทขึนและชาวไทใหญ่จากเมืองเชียงตุง มาอยู่ที่เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พะเยา และน่านเป็นจำนวนมาก อันเป็นวิธีฟื้นฟูอาณาจักรล้านนา เพราะในช่วงก่อนนั้นพม่าได้กวาดต้อนชาวล้านนาไปอยู่ที่ พุกาม และ มัณฑะเลย์ ไปจำนวนมา


เชียงรุ่งถูกยื้อแย่งดึงโดยอาณาจักรใกล้เคียงไปมาอยู่ไม่นาน กระทั่งยุคสมัยแห่งการล่าอาณานิคมในช่วงรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส เข้ามาและให้พม่าไปอยู่กับอังกฤษ สิบสองปันนา ให้อยู่กับจีนปกครอง
เชียงตุงไปกับพม่า และฝรั่งเศสคุมลาว กัมพูชาและเวียดนามช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จีนปกครองเมืองเชียงรุ่งถูกยุบจากอาณาจักรที่มีเมืองหลวงให้เป็นแค่หัวเมืองและเจ้าฟ้าปกครองนครทั้งหลายก็ถูกปลด ให้เป็นแค่สามัญชน. หลายๆพระองค์และเครือญาติเชื้อเจ้านายหนีออกจากเชียงรุ้ง อาศัยในหลายๆประเทศ. รวมถึงประเทศไทยก็มี..หลายพระองค์


คัดลอกมาจาก แป้หม่าเก่า Ancient Phrae # อนุรักษ์ สืบสาน ตำนาน ประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิต เมืองแพร่
ข้อมูลจาก https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/770207

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้