Last updated: 7 ก.ย. 2567 | 163 จำนวนผู้เข้าชม |
เวียงจันทร์ เมืองหลวงของลาว คือจุดหมายปลายทางที่เต็มไปด้วยเสน่ห์และความสงบ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง เมืองนี้ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมที่งดงามและธรรมชาติที่น่าหลงใหล จากวัดวาอารามที่มีเอกลักษณ์ไปจนถึงอาหารพื้นเมืองที่แสนอร่อย เวียงจันทร์มอบประสบการณ์ที่หลากหลายและน่าจดจำสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสความงามและความเป็นเอกลักษณ์ของลาว
1.พระธาตุหลวง (Pha That Luang)
พระธาตุหลวง เวียงจันทน์ (Pha That Luang) หรือ พระเจดีย์โลกะจุฬามณี เป็นศาสนสถานที่สำคัญที่สุดในลาว เป็นปูชนียสถานสำคัญมากๆ แห่งเวียงจันทน์ เรียกได้ว่าใครมาเวียงจันทน์แล้ว ไม่ได้มาไหว้พระธาตุหลวง แทบเรียกได้ว่า มาไม่ถึงเวียงจันทน์เลยทีเดียว เพราะตามประวัติศาสตร์ของลาวนั้น พระธาตุหลวงถูกสร้างขึ้นพร้อมๆ กับการสร้างเมืองเวียงจันทน์ โดย พระเจ้าจันทบุรีประสิทธิศักดิ์ เจ้าเหนือหัวผู้ครองนครเวียงจันทน์พระองค์แรกนั่นเอง พร้อมกับพระอรหันต์ 5 องค์ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ อีกทั้งตามตำนานกล่าวว่าพระธาตุหลวงมีประวัติการก่อสร้างนับพันปีเช่นเดียวกันพระธาตุพนมในประเทศไทย
2. หอพระแก้ว (Hophakaew Museum)
หอพระแก้ว (Hophakaew Museum) ตั้งอยู่ไม่ไกลจากใจกลางตัวเมืองเวียงจันทน์ค่ะ ที่นี่เคยเป็นวัดสำหรับประดิษฐาน พระแก้วมรกต ในอดีต ซึ่งปัจจุบัน พระแก้วมรกต นั้นประดิษฐานอยู่ที่ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ วัดพระแก้ว ในกรุงเทพฯ ประเทศไทย นั่นเอง แต่เดิมหอพระแก้วนั้นเคยเป็นวัดหลวงประจำราชวงศ์ของลาว สร้างขึ้นโดย พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ในปี พ.ศ.2108-2109 หลังย้ายเมืองหลวงจากหลวงพระบางไปยังเวียงจันทน์ นั่นเอง
3. ประตูชัย (Patuxay Monument)
ประตูชัย หรือ ปะตูไซ (Patuxay Monument) เป็นแลนด์มาร์คที่สำคัญอีกแห่งของเวียงจันทน์ค่ะ สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2500-2511 เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานสดุดีวีรชนผู้ร่วมรบเพื่อประกาศเอกราชจากประเทศฝรั่งเศสค่ะ ปะตูไซ เป็นคำประสมมาจากคำว่า "ปะตู" หมายถึง "ประตู" และ "ไซ" มาจากภาษาสันสกฤตคำว่า "ชยะ" หมายถึง "ชนะ" นั่นเอง
จะเห็นได้ว่าประตูชัยมีสถาปัตยกรรมที่สวยงาม เป็นศิลปะแบบล้านช้าง ผสมผสานอิทธิพลที่ได้รับมาจากประตูชัยในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ออกแบบโดยนายทำ ไซยะสิทธเสนา สถาปนิกชาวลาว บริเวณรอบๆ ประตูชัยจะถูกล้อมรอบด้วยสวนสวย ดอกไม้ และน้ำพุ ซึ่งในเวลาค่ำ จะมีการเปิดไฟสวยงาม และมีการโชว์น้ำพุเต้นระบำอีกด้วย
4. สวนพระ (Buddha Park)
สวนพระ (Buddha Park) อีกหนึ่ง ที่เที่ยวในเวียงจันทน์ ที่สวยงามและมีมนต์ขลัง ถูกสร้างโดย ปู่บุญเหลือ สุรีรัตน์ นักวิปัสสนาชาวไทย ภายในสวยจะเต็มไปด้วยรูปปั้นต่างๆ ทั้ง พระพุทธรูป รูปเคารพ ที่ล้วนเป็นฝีมือของท่านและลูกศิษย์ แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมและความเชื่อทางศาสนาของลาวยุคโบราณ เป็นสวนที่สร้างสรรค์ และสวยงามแปลกตา แม้ว่าจะไม่ใช่วัด แต่อุทยานนี้บางครั้งก็ถูกเรียกว่า วัดเชียงควน (Xieng Khuan)
อุทยานสวนพระแห่งนี้ มีลักษณะคล้ายกันที่อุทยานที่บ้านเกิดของ ปู่บุญเหลือ สุรีรัตน์ในจังหวัดหนองคายที่สร้างขึ้นภายหลัง คือ ศาลาแก้วกู่ อีกทั้งยังมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับ สวนแห่งโบมาร์โซ (Gardens of Bomarzo) ที่แคว้นลัตซีโย ประเทศอิตาลี อีกด้วย
5. วัดศรีเมือง (Wat Si Muang)
วัดสีเมือง หรือ วัดศรีเมือง (Wat Si Muang) เป็นวัดศักดิ์สิทธิ์ของลาว เพราะสถานที่ตั้งของ เสาหลักเมืองเวียงจันทน์ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2106 ในสมัยของ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช และถือเป็น 1 ใน วัด 5 ศรี ของเวียงจันทน์ คือ ศรีเมือง ศรีพูล ศรีฐาน สีบัวบาน และ ศรีหอม ซึ่งในสมัยโบราณ มีความเกี่ยวข้องกับการทำพิธีสำคัญของกษัตริย์ เช่น พิธีราชาภิเษก ที่จะต้องนำน้ำพุทธมนต์จาก วัด 5 ศรี มาประกอบพิธีนั่นเอง
ภายในวัดศรีเมืองนั้นมี พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ประดิษฐานอยู่ เป็นที่สักการะบูชาของชาวเวียงจันทน์ เชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างมาก ไม่ว่าใครมาขอพรก็จะสมปรารถนา อีกทั้งภายในวัดยังมีกำแพง และเพดานด้านในของวัดมีความงดงามมากๆ
6. อาคารรัฐสภา (หลังเก่า) Presidential Palace
อาคารรัฐสภา หลังเก่า (Presidential Palace) เวียงจันทน์ เป็นสถานที่ราชการซึ่งไม่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปด้านใน แต่นักท่องเที่ยวก็มักจะไปถ่ายรูปตึกสวยๆ จากด้านนอกกลับมาเป็นที่ระลึก เพราะมีสถาปัตยกรรมที่สวยงามมากๆ นั่นเอง ปัจจุบันได้มีการสร้าง อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ติดกับ อาคารหลังเก่า
7. วัดสีสะเกด (Wat Sisaket)
วัดสีสะเกด (Wat Sisaket) เวียงจันทน์ สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2361 โดย เจ้าอนุวงศ์ ที่นี่เป็นทั้งวัดและพิพิธภัณฑ์ในเวลาเดียวกัน ซึ่งภายในเก็บรวบรวมพระพุทธรูปไว้เป็นจำนวนมาก ถึงราวๆ 16,000 องค์เลยทีเดียว มีพระพุทธรูปทุกปางให้เราได้เยี่ยมชมความสวยงามและโดดเด่นของวัดแห่งนี้คือ สิมและหอไตร ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะรัตนโกสินทร์ โดยรอบปรากฏพาไลซึ่งคล้ายคลึงอย่างมากกับอุโบสถในศิลปะรัตนโกสินทร์หลายแห่ง ซุ้มประตูและหน้าต่างเป็นทรงมณฑป ซึ่งคล้ายคลึงกับอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามในกรุงเทพฯ แต่มีหลังคาตามแบบล้านช้าง เป็นวัดที่ไม่ได้ถูกทำลายจากการบุกรุกของสยาม สันนิษฐานว่า ด้วยความที่มีสถาปัตยกรรมคล้ายคลึงกับศิลปะรัตนโกสินทร์ จึงทำให้วัดสีสะเกด รอดพ้นจากการเผาทำลายจากสยาม
15 พ.ย. 2567