Last updated: 24 ก.ย. 2566 | 836 จำนวนผู้เข้าชม |
รู้จักมรดกโลก 7 แห่งในไทย ที่ยูเนสโกรับรอง มีที่ไหนบ้าง ?
องค์การยูเนสโก ประกาศรับรอง “เมืองโบราณศรีเทพ” จ.เพชรบูรณ์ เป็นมรดกโลกแห่งที่ 7 ในไทย เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 ท่ามกลางความปีติยินดีของคนไทย หลายคนอาจยังไม่ทราบและอยากรู้ว่า ไทยได้ประโยชน์อะไรจากการเป็นมรดกโลก ? และมรดกโลกอีก 6 แห่งที่ยูเนสโกรับรองในไทยมีที่ไหนบ้าง ? เผื่อวันหนึ่งจะปักหมุดเดินทางไปท่องเที่ยวได้ ไทยพีบีเอส รวบรวมข้อมูลไว้ดังนี้
มรดกโลก คืออะไร ทำไมต้องมีการรับรอง ?
คำว่า “มรดกโลก” (World Heritage) มีความหมายถึง มรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติที่มีความโดดเด่นเป็นเลิศในระดับสากล เมื่อได้รับการยอมรับให้เป็นแหล่งมรดกโลกแล้ว ไม่ว่าจะตั้งอยู่ในขอบเขตดินแดนของประเทศใด ถือได้ว่าเป็นมรดกของมนุษยชาติทั้งปวงในโลก
ส่วนทำไมต้องรับรองมรดกโลก เพราะต้องการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการคุ้มครองและอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ ให้ดำรงคุณค่าความโดดเด่นเป็นมรดกของมวลมนุษยชาติ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตตลอดไป
เป็นไปตาม อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ หรือ "อนุสัญญาคุ้มครอง มรดกโลก" (The World Heritage Convention) ที่ได้รับการรับรองจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ในการประชุมใหญ่สมัยสามัญครั้งที่ 17 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2515 และโดยอนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี พุทธศักราช 2518 เป็นต้นมา
สำหรับมรดกโลกมีทั้งหมด 3 ประเภท ดังนี้
1. มรดกโลกทางวัฒนธรรม (Cultural World Heritage)
ประกอบด้วย ผลงานสร้างสรรค์ทางสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม แหล่งโบราณคดี ที่มีคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากลในมิติประวัติศาสตร์ สุนทรียศาสตร์ วิทยาศาสตร์ มานุษยวิทยา เช่น เมมฟิส และเนโครโพลิส - ทุ่งพีระมิดจากกีซาถึงดัชเชอร์ (Memphis and its Necropolis – the Pyramid Fields from Giza to Dahshur) ประเทศอียิปต์
2. มรดกโลกทางธรรมชาติ (Natural World Heritage)
ประกอบด้วย ลักษณะทางกายภาพและทางชีวภาพ หรือกลุ่มสภาพทางธรรมชาติ ที่มีคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากลในมิติวิทยาศาสตร์ การอนุรักษ์ และความงดงามตามธรรมชาติ เช่น อุทยานแห่งชาติแกรนด์แคนยอน (Grand Canyon National Park) ประเทศสหรัฐอเมริกา ภูมิทัศน์หินผาอันสวยงามตระการตาเกิดจากการสึกกร่อนของหิน ประกอบกับการยกตัวของเปลือกโลก จนกลายเป็นร่องเหวลึกสลับซับซ้อน ซึ่งต้องใช้เวลานับล้านปี
3. แหล่งมรดกโลกแบบผสมระหว่างวัฒนธรรมและธรรมชาติ (Mixed Cultural and Natural World Heritage)
พิจารณาจากแหล่งที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ส่วนใด ส่วนหนึ่งของมรดกโลกทางวัฒนธรรมและมรดกทางธรรมชาติ เช่น ภูเขาไท่ซาน (Mount Taishan) ประเทศจีน ภูเขาศักดิ์สิทธิ์อันเป็นภาพสะท้อนคติทางความเชื่อในวัฒนธรรมจีน
ยูเนสโก รับรองมรดกโลกของไทยที่ไหนบ้าง ?
ปัจจุบันยูเนสโก ได้รับรองมรดกโลกไทยไปแล้ว 7 แห่ง แบ่งเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม 4 แห่ง และมรดกโลกทางธรรมชาติ 3 แห่ง ดังนี้
4 มรดกโลกทางวัฒนธรรม
1. ปี 2534 เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร จ.สุโขทัย
เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชรเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่ปรากฏหลักฐานร่องรอยของอารยธรรมอันรุ่งเรืองในอดีต สะท้อนให้เห็นภาพของอาณาจักรสุโขทัยเมื่อครั้งเริ่มก่อตั้งบ้านเมืองในฐานะรัฐอิสระ จนกลายเป็นรัฐสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในระหว่าง พุทธศตวรรษที่ 18-19 เป็นเวลานานกว่า 200 ปี
ด้วยความโดดเด่นนี้ ส่งผลให้เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร ได้รับการอนุรักษ์และพัฒนาให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์และได้รับการขึ้นทะเบียนไว้ในบัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลก จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 15 เมื่อปี 2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนิเซีย ด้วยคุณค่าและความโดดเด่นตามเกณฑ์มาตรฐาน ดังนี้
หลักเกณฑ์ข้อที่ 1: เป็นตัวแทนที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์ด้านศิลปกรรมที่มีความงดงาม และเป็นผลงานชิ้นเอกที่ได้รับการสร้างสรรค์จากอัจฉริยภาพด้านศิลปะอย่างแท้จริง
หลักเกณฑ์ข้อที่ 3: เป็นสิ่งที่แสดงความเป็นเอกลักษณ์ที่หาได้ยากยิ่ง หรือหลักฐานที่แสดงขนบธรรมเนียม ประเพณีหรืออารยธรรมซึ่งยังหลงเหลืออยู่ หรืออาจสูญหายไปแล้ว
โบราณวัตถุและโบราณสถานที่ปรากฏอยู่ในเมืองประวัติศาสตร์นี้ แสดงให้เห็นถึงผลงานสร้างสรรค์อันล้ำเลิศของมนุษย์ ความงดงามอลังการของสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมสุโขทัย เป็นต้นแบบที่มีอิทธิพลต่อศิลปกรรมไทยสกุลช่างในระยะต่อมา ความเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะของเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ และพระพุทธรูปปางลีลา เป็นสิ่งยืนยันถึงความสำเร็จของศิลปกรรมในยุคแรกนี้ได้เป็นอย่างดี
2. ปี 2534 นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร จ.พระนครศรีอยุธยา
แหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ครอบคลุมพื้นที่จำนวน 1,810 ไร่ ในเขตเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ยังคงปรากฏร่องรอยแห่งความเจริญรุ่งเรืองของศิลปวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ งดงามและทรงคุณค่า สะท้อนให้รำลึกถึงความสง่างามของปราสาท ราชวัง วัดวาอาราม ป้อมปราการ และบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ตลอดจนวิถีชีวิตของชาวกรุงศรีอยุธยาในอดีต
นครประวัติศาสตร์แห่งนี้เป็นหลักฐานแสดงถึงความชาญฉลาดของชุมชนหนึ่ง นับตั้งแต่การเลือกที่ตั้งชุมชนในบริเวณที่มีแม่น้ำ 3 สายมาบรรจบกัน เพื่อให้เป็นแหล่งอาหารและแหล่งเกษตรกรรมอันอุดมสมบูรณ์ พร้อมกับเป็นปราการธรรมชาติในการป้องกันข้าศึก ศัตรูจากภายนอก
ขณะที่ผลงานด้านสถาปัตยกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม ประณีตศิลป์ และวรรณกรรม ยังเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดของอารยธรรมแห่งชุมชนหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในระยะเวลาระหว่างพุทธศตวรรษที่ 19-24 อีกด้วย
หลักฐานแห่งอารยธรรมของชาวกรุงศรีอยุธยาส่งผลให้นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ณ กรุงคาร์เธจ ประเทศตูนิเซีย เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2534 ด้วยหลักเกณฑ์ของคุณค่าความโดดเด่นอันเป็นสากล (Outstanding Universal Value, OUV) ในข้อที่ 3 ดังนี้
หลักเกณฑ์ข้อที่ 3: เป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ที่หาได้ยากยิ่ง หรือเป็นหลักฐานแสดงขนบธรรมเนียมประเพณี หรืออารยธรรมซึ่งยังคงหลงเหลืออยู่ หรืออาจสูญหายไปแล้ว
3. ปี 2535 แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี
แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง เป็นแหล่งอารยธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีความโดดเด่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นตัวแทนวิวัฒนาการด้านวัฒนธรรมสังคม และเทคโนโลยีที่มีความเจริญรุ่งเรืองสืบทอดยาวนานกว่า 5,000 ปี ในช่วงเวลาระหว่าง 3,600 ปีก่อนคริสต์ศักราช ถึงคริสต์ศักราช 200 แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปีพุทธศักราช 2535 จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 16 ที่เมืองแซนตาเฟ ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยคุณค่าและความโดดเด่นตามหลักเกณฑ์มาตรฐานข้อที่ 3 ดังนี้
หลักเกณฑ์ข้อที่ 3: เป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ที่หาได้ยากยิ่ง หรือเป็นหลักฐานแสดงขนบธรรมเนียมประเพณี หรืออารยธรรมซึ่งยังคงหลงเหลืออยู่ หรืออาจสูญหายไปแล้ว
นักโบราณคดี สันนิษฐานว่า วัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์บ้านเชียง แบ่งได้เป็น 3 ยุค คือ
1. ยุคต้น มีอายุระหว่าง 3,600-1,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช (ราว 5,600-3,000 ปีมาแล้ว) ภาชนะดินเผาที่มีลักษณะโดดเด่นที่สุดในยุคนี้ คือ ภาชนะดินเผาสีดำและสีเทาเข้ม มีเชิงหรือ ฐานเตี้ยตกแต่งลวดลายคล้าย
2. ยุคกลาง มีอายุระหว่าง 1,000-300 ปีก่อนคริสต์ศักราช (ราว 3,000-2,300 ปีมาแล้ว) ภาชนะดินเผาที่โดดเด่นที่สุดเป็นภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ก้นกลมและก้นแหลมผิวนอกมีสีขาวนวล ตกแต่งด้วยลายขีดผสมกับลายเขียนสี การฝังศพมักวางศพในลักษณะนอนหงายเหยียดยาวมีเศษภาชนะดินเผาที่ถูกทุบคลุมทั้งตัว
3. ยุคปลายมีอายุระหว่าง 300 ปี ก่อนคริสตศักราช ถึงคริสตศักราช 200 (ราว 2,300-1,800) ภาชนะดินเผา มีความโดดเด่นสวยงามมากมีทั้งภาชนะเขียนลายสีแดงบนพื้นสีขาวนวล ภาชนะเขียนลายสีแดง (อิฐ) บนพื้นสีแดงและภาชนะสีแดงขัดมัน ส่วนประเพณีการฝังศพมักวางศพนอนหงายเหยียดยาวมีภาชนะดินเผาเต็มใบวางอยู่บนลำตัว
4. แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี 1 ใน 7 มรดกโลกของไทย
ปี 2566 อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์
เมืองโบราณศรีเทพ ตั้งอยู่ที่ ต.ศรีเทพ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เป็นเมืองที่มีคูเมืองกำแพงเมืองล้อมรอบ มีพื้นที่กว่า 2,889 ไร่ มีโบราณสถานเขาคลังใน โบราณสถานปรางค์ศรีเทพ และโบราณสถานปรางค์สองพี่น้อง
นอกจากนี้ ยังมีสระน้ำโบราณอีกกว่า 70 แห่ง สะท้อนความรุ่งเรืองของเมืองโบราณศรีเทพ ที่มีความสำคัญมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายต่อเนื่องจน ถึงวัฒนธรรมเขมรโบราณ (พุทธศตวรรษที่ 8-18) โดยยังเห็นร่องรอยของชุมชนโบราณเมือง แหล่งศาสนสถานรวมไปถึงยังขุดพบโครงกระดูก และข้าวของเครื่องใช้อีกมากมาย สะท้อนอารยธรรมอินเดีย ขอม และทวารวดี
เมืองโบราณศรีเทพและแหล่งต่อเนื่อง ถูกขึ้นทะเบียนมรดกโลก จำนวน 3 แหล่ง ได้แก่ เมืองโบราณศรีเทพ โบราณสถานเขาคลังนอก โบราณสถานถ้ำเขาถมอรัตน์ ภายใต้เกณฑ์คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล ด้วยเกณฑ์ความสำคัญของการแลกเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ในช่วงเวลาใด เวลาหนึ่ง หรือในพื้นที่ในวัฒนธรรมใด ๆ ของโลกผ่านการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรม หรือ ทางเทคโนโลยีอนุสรณ์ศิลป์
3 มรดกโลกทางธรรมชาติ
1. ปี 2534 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง (ครอบคลุมพื้นที่ จ.อุทัยธานี กาญจนบุรี และตาก)
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้งเป็นแหล่งมรดกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้รับการประเมินคุณค่าให้เป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ ประกาศขึ้นทะเบียน เมื่อปี 2534 เป็นหนึ่งในพื้นที่อนุรักษ์ที่มีความสำคัญของ Indomalayan Realm ด้วยคุณสมบัติโดดเด่น ตามเกณฑ์มาตรฐาน ดังนี้
หลักเกณฑ์ข้อที่ 7: เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดของกระบวนการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทางธรณีวิทยา และวิวัฒนาการทางชีววิทยาที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติของมนุษย์
หลักเกณฑ์ข้อที่ 9: เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีความพิเศษเป็นเลิศ รวมทั้งมีความงดงามตามธรรมชาติที่หาได้ยากยิ่ง
หลักเกณฑ์ข้อที่ 10: เป็นที่อยู่อาศัยของพันธุ์พืชและสัตว์หายากของโลกที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกและเป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ไปทาง ทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดชายแดนสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ราว 350 กิโลเมตร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรอยู่ทางด้านทิศตะวันตก ในเขตพื้นที่ จ.กาญจนบุรี และตาก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งอยู่ทางทิศตะวันออกในเขตพื้นที่ของ จ.อุทัยธานี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั้งสองแห่งนี้เป็นป่าต้นน้ำของลำน้ำสำคัญทางธรรมชาติที่สำคัญ 2 สาย คือ แม่น้ำแควใหญ่ตอนบน (แม่น้ำแม่กลอง และลำห้วยขาแข้ง)
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง ได้รับการยกย่องให้เป็นผืนป่าอันยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทย ประกอบด้วยผืนป่าอนุรักษ์ 3 แห่ง ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีพื้นที่รวมประมาณ 6,222 ตารางกิโลเมตร หรือ 388,750 ไร่
นับเป็นผืนป่าอนุรักษ์ขนาดใหญ่ของประเทศที่เป็นตัวแทนแสดงลักษณะทางชีววิทยาที่สำคัญของผืนป่าในแผ่นดินใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นแหล่งรวมของความหลากหลายทางชีวภูมิศาสตร์ถึง 4 เขต คือ อินโด-หิมาลายัน ซุนดา อินโด-เบอร์มิส และอินโดจีน รวมทั้งเป็นถิ่นอาศัยของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่อุดมสมบูรณ์ทั้ง 4 เขต อีกทั้งที่ราบฝั่งตะวันออกในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นบริเวณที่โดดเด่นที่สุด เป็นตัวแทนระบบนิเวศป่า เขตร้อนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความอุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของโลก
ทั้งนี้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้งเป็นผืนป่าที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2503 (ปรับปรุงแก้ไขปีพุทธศักราช 2535) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญเพื่อการคุ้มครองสัตว์ป่าที่นับวันจะลดจำนวนลงไปเรื่อยๆ กฎหมายฉบับนี้จึงมีความเข้มงวดมากกว่ากฎหมายป่าไม้ฉบับอื่นๆ โดยหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการโดยตรง คือ สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
2. ปี 2548 กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ (ครอบคลุมพื้นที่ จ.สระบุรี นครนายก นครราชสีมา ปราจีนบุรี สระแก้ว และบุรีรัมย์)
พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ประกอบด้วยพื้นที่คุ้มครอง หรือพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ มีเนื้อที่รวมกันทั้งสิ้น 3,854,083.53 ไร่ หรือ 6,152.13 ตารางกิโลเมตร
ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจังหวัดสระบุรี นครนายก นครราชสีมา ปราจีนบุรี สระแก้ว และบุรีรัมย์ โดยด้านตะวันออกมีอาณาเขตติดต่อกับผืนป่าบันทายฉมอร์ (Banteay Chmor) ซึ่งเป็นพื้นที่คุ้มครองภูมิทัศน์ (Protected Landscape) ของราชอาณาจักรกัมพูชา
รัฐบาลไทยในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ธรรมชาติ เพื่อใช้เป็นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสู่อนาคต จึงได้ประกาศจัดตั้งพื้นที่ป่าเขาใหญ่และพื้นที่ใกล้เคียงบริเวณดงพญาเย็นของเทือกเขาพนมดงรักให้เป็นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งนับเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของไทย เมื่อปี 2505 และเมื่อกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีประสบการณ์และความพร้อมในด้านต่างๆ สูงขึ้น
รัฐบาลชุดต่อๆ มาได้ประกาศให้ป่าทับลาน ป่าปางสีดา และป่าตาพระยา เป็นอุทยานแห่งชาติในปีพุทธศักราช 2524 2525 และ 2539 ตามลำดับ รวมทั้งประกาศ ป่าดงใหญ่ ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับป่าทับลาน ป่าปางสีดา และป่าตาพระยา ให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในปีพุทธศักราช 2539
การประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติทั้ง 4 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 1 แห่ง ทำให้ผืนป่าบริเวณนี้มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกันเป็นระบบนิเวศขนาดใหญ่ จนได้รับการขนานนามว่า “พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่” ซึ่งเชื่อว่าเอื้อต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ ภูมิภาค และท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ทั้งยังเป็นการสนับสนุนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในระดับโลก หากมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบและถูกหลักการ
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่-ปางสีดา-ทับลาน-ตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกภายใต้ชื่อ “พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขา ใหญ่” จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 29 เมื่อปี 2548 ที่เมืองเดอร์บัน สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ โดยมีคุณสมบัติโดดเด่นตามเกณฑ์มาตรฐานในข้อ 10 ดังนี้ หลักเกณฑ์ข้อที่ 10: เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดสัตว์และพันธุ์พืชที่หายากหรือที่ตกอยู่ในสภาวะอันตราย แต่ยังคงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ รวมถึงระบบนิเวศอันเป็นแหล่งรวมความอุดมสมบูรณ์ของพืชและสัตว์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ
3. ปี 2564 กลุ่มป่าแก่งกระจาน (ครอบคลุมพื้นที่ จ.ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์)
กลุ่มป่าแก่งกระจาน ครอบคลุมอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี รวมพื้นที่ 2,938,909.84 ไร่
กลุ่มป่าแก่งกระจาน ประกอบด้วยถิ่นที่อาศัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับการอนุรักษ์ในถิ่นของความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงพบชนิดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ ที่มีคุณค่ายิ่งด้านการอนุรักษ์และวิทยาศาสตร์
สัตว์ที่หายาก เช่น จระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย สมเสร็จ เสือโคร่ง ช้าง กระทิงรวมทั้งพื้นที่สำคัญเพื่อการอนุรักษ์นก มากกว่า 490 ชนิด ป่าผืนนี้ยังเป็นแหล่งต้นน้ำของพื้นที่ชุ่มน้ำเขาสามร้อยยอด และพื้นที่เกษตรกรรมใน จ.ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์
กลุ่มป่าแก่งกระจาน ก็มีคุณสมบัติโดดเด่นตามเกณฑ์มาตรฐานในข้อ 10 เช่นกัน
ขณะที่ เว็บไซต์ของยูเนสโกยังระบุว่า ขณะนี้ไทยมีสถานที่ที่ขึ้นอยู่ในรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) จำนวน 6 แห่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาเป็นมรดกโลก ประกอบด้วย
กลุ่มโบราณสถานปราสาทพนมรุ้ง-ปราสาทเมืองต่ำ จ.บุรีรัมย์
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี
พระธาตุพนม กลุ่มสิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์ และภูมิทัศนที่เกี่ยวข้อง จ.นครพนม
อนุสรณ์สถานและพื้นที่ทางวัฒนธรรมในเชียงใหม่ เมืองหลวงแห้งล้านนา จ.เชียงใหม่
วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดพระบรมธาตุ) จ.นครศรีธรรมราช
พื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน
ทั้งนี้ คณะกรรมการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เตรียมเสนอมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติเสนอต่อยูเนสโก เพื่อขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติในปี 2562 ได้แก่ นวดแผนไทย รวมทั้งยังมีการศึกษาแนวทางการเสนอมรดกวัฒนธรรมภูมิปัญญาที่มีความคล้ายคลึงกันกับประเทศต่างๆ เพื่อเสนอเพิ่มเติมด้วย
ไทยได้ประโยชน์อะไรจากการขึ้นทะเบียนมรดกโลก ?
จากการศึกษาในรายงานวิจัยเรื่อง “The Costs and Benefits of World Heritage Site Status in the UK19 เสนอว่า การขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกเป็นแหล่งมรดกโลกนั้น มีประโยชน์ในหลายมิติ ได้แก่ การสร้างพันธมิตรในการดำเนินงาน (Partnership) การเพิ่มจํานวนของทุนสมทบ (Additional Funding) การอนุรักษ์ (Conservation) การฟื้นฟูพื้นที่หรือเมืองอันเป็นที่ตั้งของแหล่ง (Regeneration) การท่องเที่ยว (Tourism) การสร้างความภาคภูมิใจของพลเมือง (Civic Pride) การสร้างประโยชน์ด้านต้นทุนทางสังคม (Social Capital)
อย่างประโยชน์ด้านการอนุรักษ์ (Conservation) การได้รับรองเป็นมรดกโลก ทำให้เกิดการบริหารจัดการ ตั้งแต่หน่วยงานภาครัฐ มีการบังคับใช้กฎหมาย ภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุน ภาคการศึกษาสร้างความตระหนักรู้และคุณค่า นําไปสู่บรรยากาศของการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลกอย่างสมดุลและยั่งยืน
ทั้งนี้ มีกรณีศึกษาแหล่งมรดกโลกจํานวนมากในต่างประเทศ ซึ่งภาคเอกชนได้เป็นส่วนหนึ่งในการทําหน้าที่สนับสนุนทุน ในการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแหล่งมรดกโลก รวมไปถึงสนับสนุนการสร้างและพัฒนาขีดความสามารถ (Capacity Building) ในการทํางานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการแหล่ง มรดกโลกให้ได้รับการพัฒนาความรู้ที่ทันสมัย ตลอดจนมีอุปกรณ์เครื่องมือทันสมัยต่าง ๆ ในการปฏิบัติงาน
ที่สำคัญคือ ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว (Tourism) การได้รับรองมรดกโลก สร้างแรงจูงใจให้มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือน ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่แหล่งมรดกโลกและพื้นที่โดยรอบ มีตัวอย่างของการพัฒนาการท่องเที่ยวในประเทศกําลังพัฒนาในโครงการท่องเที่ยว เพื่อลดผ่อนความยากไร้ (Pro Poon Touinsm) เช่น โครงการใน กัมพูชา ลาว และเวียดนาม เป็นต้น การท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นในแหล่งมรดกโลก ยังได้ส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวในพื้นที่อื่น ๆ ข้างเคียง ซึ่งเป็น การกระจายรายได้ที่อีกด้วย แต่ทั้งนี้ ต้องคํานึงถึงความยั่งยืน ที่จะไม่ทำให้คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล ความเป็นของแท้ดั้งเดิม และความครบถ้วนสมบูรณ์อันเป็นคุณสมบัติหลัก ของแหล่งมรดกโลกต้องเสื่อมลงด้วย
“แหล่งมรดกโลกยังนําพาไปสู่การสร้างความภาคภูมิใจของพลเมือง ไม่เพียงแต่พลเมืองของรัฐภาคีสมาชิกเท่านั้น หากยังรวมถึงพลเมืองที่พึงประสงค์ของโลกในศตวรรษที่ 21 ซึ่งคุณลักษณะดังกล่าวถือเป็น “ทุนทางสังคม” อันเป็นต้นทุนสําคัญของ การศึกษา และการเรียนรู้ เพื่อการพัฒนาสังคมสู่สังคมอุดมปัญญา ที่ใช้มรดกทางวัฒนธรรมเป็นต้นทุนสําคัญ ในการพัฒนาที่ยั่งยืนของมนุษยชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป ตลอดจนสันติภาพของมนุษยชาติอันเป็นอุดมคติของ “แหล่งมรดกโลก” ทั้งทางวัฒนธรรม และทางธรรมชาติ
ที่มา : ยูเนสโก, หนังสือคู่มือการนำเสนอ และการจัดเตรียมเอกสารการขอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก ของกลุ่มงานประสานการบริหารจัดการมรดกโลก สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
#Unesco #World Heritage #World Heritage Site #มรดกโลก #มรดกโลกในเอเชีย #มรดกโลกในไทย #ยูเนสโก #รวมที่เที่ยว #เอเชีย